เลี้ยงปลาทอง ไม่ยากอย่างที่คิด เมื่อคุณกำลังอ่านข้อความนี้แสดงว่าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังเลี้ยงปลาทองอยู่ และต้องการหาวิธีที่จะดูแลน้องตัวจิ๋วให้อยู่รอดปลอดภัยไปนาน ๆ ทางเพจของเราก็มีข้อมูลความรู้สำคัญ ๆ ที่คุณผู้อ่านต้องรู้เอาไว้เพื่อจะได้เลี้ยงปลาทองได้อย่างเหมาะสม
ตู้ปลาหรืออ่างปลา
ภาชนะสำหรับ เลี้ยงปลาทอง นั้นไม่มีความยุ่งยาก ขึ้นอยู่กับความชอบของตัวผู้เลี้ยงเอง ซึ่งก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้เลี้ยงปลาทองได้สัมผัสถึงความสดใส สวยงามของตัวปลาทอง ดังนั้นจึงต้องเลือกตู้หรืออ่างปลาแบบที่ผู้เลี้ยงชื่นชอบ มองแล้วสบายอกสบายใจด้วย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแบบตู้ปลาหรือเลี้ยงไว้ในอ่างก็ได้ สำหรับสิ่งที่ผู้เลี้ยงปลาทองไว้ในตู้จะต้องรู้คือตู้ปลาขนาด 24 นิ้วนั้นสามารถบรรจุปลาทองไว้ได้ประมาณ 3 ตัว หากมากไปกว่านี้จะทำให้อึดอัดเกินไป ส่วนผู้ที่เลี้ยงปลาทองไว้ในอ่างซีเมนต์นั้นควรจะให้อ่างเลี้ยงอยู่ในที่ที่ไม่อับแสงและไม่จ้าจนเกินไป ควรใช้ตาข่ายพรางแสงประมาณ 60% ปิดที่ปากบ่อไว้ด้วย และที่สำคัญควรจะสร้างให้อ่างซีเมนต์มีความลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อช่วยให้เปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ควรมีพวกสาหร่ายหรือไม้น้ำอยู่ในภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลาทองด้วย เพื่อช่วยลดความเครียด ไว้สำหรับเป็นแหล่งอาหาร และเพิ่มจุลลินทรีย์จากธรรมชาติให้น้องปลา

คุณภาพน้ำ
น้ำเป็นส่วนที่สำคัญอันดับต้น ๆ ในการ เลี้ยงปลาทอง หากผู้เลี้ยงใช้น้ำที่ไม่สะอาดหรือไม่มีคุณภาพจะทำให้ปลาทองตายเร็วขึ้นกว่าอายุขัยจริง น้ำประปาจึงเป็นตัวเลือกที่ดีอีกตัวเลือกหนึ่ง เนื่องจากมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาใช้เลี้ยงปลาทองได้ เพราะน้ำประปาผ่านการบำบัดและการกรองหลายขั้นตอน จึงมีความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องปริมาณคลอรีนที่หลงเหลืออยู่ในน้ำเล็กน้อย ทางเพจเองก็มีวิธีการกำจัดคลอรีนอย่างง่าย ๆ ด้วยการให้พักน้ำที่ต้องใช้ไว้ 2 – 3 วัน หรือตากแดดไว้ 24 ชั่วโมง คลอรีนจะแตกตัวและระเหยไปในอากาศเอง แต่ถ้าหากต้องการใช้น้ำเลี้ยงปลาทันทีก็สามารถเติมโซเดียมไทโอซัลเฟต อัตรา 1 เกล็ด : น้ำ 5 ลิตร ได้เลย

อากาศหรือออกซิเจนในน้ำ
ปลาทองคุ้นชินกับสภาพน้ำที่ต้องมีออกซิเจน ดังนั้นในตู้จำเป็นที่จะต้องทำระบบหมุนเวียนน้ำเบา ๆ โดยอาจจะเป็นเครื่องกรองน้ำ น้ำพุ น้ำตก หรือปั๊มน้ำก็ตาม เพราะการหมุนเวียนของน้ำคือการทำให้เกิดการสร้างออกซิเจน และปลาทองขนาดใหญ่ก็ต้องการออกซิเจนมากกว่าปลาทองขนาดเล็ก ส่วนเรื่องอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมคือ 28 – 35 องศาเซลเซียส หากเพิ่งซื้อปลามาใหม่ก่อนที่จะปล่อยปลาลงในตู้ควรจะแช่ถุงใส่ปลาทองในน้ำก่อนประมาณ 10 – 15 นาที เพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิให้กับปลา แล้วจากนั้นจึงค่อยปล่อยปลาทองลงไปได้ทั้งตัว
การให้อาหาร
แนะนำว่าควรให้อาหารสำเร็จรูปวันละ 1 – 2 ครั้ง โดยการให้แต่ละครั้งไม่ควรมากจนเกินไปเพราะจะทำให้ปลาทองอ้วนและเสี่ยงตายได้ เนื่องจากปลาทองค่อนข้างกินจุ สามารถกินได้เรื่อย ๆ จึงไม่ควรให้อาหารพร่ำเพรื่อ ส่วนอาหารเสริมอย่างลูกน้ำและหนอนแดงนั้นสามารถให้ได้โดยดูจากความอ้วนและความแข็งแรงของตัวปลาทอง ซึ่งสังเกตได้จากบริเวณโคนหางที่มีขนาดใหญ่ มีความสมดุลกับตัวปลา เมื่อมองจากมุมด้านบนจะสังเกตเห็นความกว้างของลำตัวอ้วนหนาและบึกบึน ขณะที่สีบนตัวปลาจะต้องมีสีเข้มสด

สายพันธุ์ต่าง ๆ
เมื่อคุณผู้อ่านต้องการจะเลี้ยงปลาทองแล้วนั้นก็ควรศึกษาคุณลักษณะของปลาทองสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน เนื่องจากปลาทองแต่ละชนิดมีวิธีการดูแลที่ต่างกันไป หากเป็นผู้เลี้ยงมือใหม่แต่เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงปลาทองริวกิ้นเลยก็ไม่เหมาะอย่างแรง เพราะปลาทองริวกิ้นมีความเปราะบาง เลี้ยงยาก ต้องเป็นผู้เลี้ยงที่ทำความรู้จักและเชี่ยวชาญกับปลาทองสักระยะแล้วเท่านั้นจึงจะเหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทองสายพันธุ์นี้ การเลือกเลี้ยงจากพันธุ์ง่าย ๆ ที่ทนต่อสภาพน้ำก็มีความสำคัญในการอยู่รอดของตัวปลาทอง
สำหรับเรื่องน่ารู้ 5 ข้อสำคัญในการเลี้ยงปลาทองก็หมดลงแล้ว หวังว่าจะทำให้คุณผู้อ่านมั่นใจในการนำน้องตัวจิ๋วมาเลี้ยงได้มากขึ้น จากเริ่มต้นที่ตัวสองตัวก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นจนละลานตาไปเลย
อ่านบทความ 9 สายพันธุ์ ปลาทอง สุดฮิตยอดนิยมที่น่ารักน่าเลี้ยงมากที่สุด
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : https://pixabay.com/th/