
สัตว์เลี้ยงตัวจิ๋วแสนน่ารักคงหนีไม่พ้น แฮมสเตอร์ หนูน้อยที่เป็นที่นิยมเลี้ยงติดบ้านด้วยหน้าตาและเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร หากคุณผู้อ่านเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังตัดสินใจนำเจ้าแฮมสเตอร์มาเป็นเพื่อนซี้ อย่าพลาดที่จะศึกษาเรียนรู้ในการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมก่อนนำน้องตัวจิ๋วเข้ามาในบ้าน มาดูกันเลยดีกว่า!
วิธีเลือกซื้อตัวที่ใช่

แฮมสเตอร์มีหลากหลายสายพันธุ์เช่นเดียวกับสัตว์ทั่ว ๆ ไป คุณผู้อ่านที่สนใจเลี้ยงจึงควรศึกษารูปร่างหน้าตา ลักษณะนิสัย การดูแล และเพศของหนูแฮมสเตอร์แต่ละสายพันธุ์ไว้ให้เหมาะตามความต้องการ ไม่ควรไปเลือกดูจากหน้าร้านแล้วจิ้ม ๆ ตัวที่อยากได้โดยไม่ศึกษาหรือทำความรู้จักมาให้ดีก่อน ทางที่ดีควรซื้อแฮมสเตอร์ที่มีอายุอยู่ในช่วง 4 สัปดาห์ โดยเลือกตัวที่มีลักษณะสะอาดทั่วทั้งตัวตั้งแต่ใบหูจนถึงปลายหาง ซึ่งแฮมสเตอร์แต่ละสายพันธุ์มีขนาดตัวไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงควรศึกษาขนาดตัวของสายพันธุ์ที่ต้องการเพื่อจะได้เลือกตัวที่มีขนาดเหมาะสมเข้ามาเลี้ยง เพราะร้านขายแฮมสเตอร์บางร้านก็อาจย้อมหนูขาย ไม่ใช่พันธุ์แท้แต่เป็นพันธุ์ผสมก็เป็นได้
ส่วนสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือช่วงเวลาในการไปเลือกซื้อแฮมสเตอร์ ควรเป็นช่วงเย็นจนถึงหัวค่ำจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หนูน้อยแฮมสเตอร์ส่วนใหญ่มีความตื่นตัว คุณผู้อ่านที่สนใจอยากเลี้ยงจะสามารถสังเกตลักษณะเฉพาะตัวของแฮมสเตอร์แต่ละตัวได้ง่าย
วิธีเลือกกรงให้ แฮมสเตอร์

กรงที่เหมาะสำหรับแฮมสเตอร์ทุกสายพันธุ์ได้แก่กรงแบบตู้กระจก ซึ่งควรจะมีความยาวอย่างน้อย 3 ฟุตสำหรับวางอาหาร น้ำ ของเล่น และเพื่อให้เจ้าหนูตัวจิ๋วได้มีพื้นที่วิ่งเล่น แต่หากใครสนใจจะใช้กรงแบบทั่วไปก็ควรตรวจสอบสภาพของกรงทุก ๆ ส่วนว่ามีบริเวณใดชำรุดเสียหายหรือไม่ และซี่กรงก็ไม่ควรมีระยะห่างเกิน 1 เซนติเมตรเพื่อป้องกันแฮมสเตอร์เล็ดลอดออกไปผ่านช่องเล็ก ๆ
วิธีดูแลและเลี้ยงดูเจ้าแฮมสเตอร์

เมื่อได้หนูแฮมสเตอร์สายพันธุ์ที่ต้องการพร้อมกรงแล้วก็ควรหาทำเลเหมาะ ๆ เพื่อวางกรงให้น้อง ซึ่งควรเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อน ไม่โดนแดดส่องโดยตรงเพราะอาจทำให้แฮมสเตอร์โดนอบจนตายได้ ซึ่งควรนำแฮมสเตอร์ใส่ไว้ในกรงทันทีเพื่อให้เขาทำความคุ้นเคยกับบ้านใหม่ เตรียมอาหารกับน้ำให้พร้อม และปล่อยให้เขาได้อยู่ตามลำพังสัก 2 - 3 วัน ต้องอดใจอย่าเพิ่งเล่นกับน้องในช่วงย้ายบ้านใหม่ เพราะแฮมสเตอร์อาจมีภาวะเครียดเพราะถูกแยกออกจากฝูง ผู้เลี้ยงจึงควรทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำเทอาหารให้เท่านั้นไปก่อน
หลังจากผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ผู้เลี้ยงสามารถลองนำมือยื่นเข้าไปในกรงได้ หากแฮมสเตอร์ไม่มีท่าทีก้าวร้าวก็ปล่อยให้เขาดมมือสักพัก หรือทดลองให้อาหารผ่านมือบ้างเป็นครั้งคราว วิธีนี้จะช่วยให้แฮมสเตอร์คุ้นเคยกับผู้เลี้ยงมากขึ้นจนไม่กลัวและไม่กัด แต่สิ่งที่ควรระวังคือไม่ควรให้คนอื่นเล่นกับแฮมสเตอร์โดยตรง เพราะน้องอาจกัดและแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อคนที่ไม่คุ้นเคยได้
ส่วนการให้น้ำนั้นไม่ควรใส่ไว้ในถ้วยเพราะอาจทำให้แฮมสเตอร์สำลักน้ำได้ ควรหาเครื่องให้น้ำสำหรับแฮมสเตอร์โดยเฉพาะติดกรงไว้ แม้แต่อาหารก็ไม่ควรใส่ไว้ในถ้วยแล้วปล่อยให้แฮมสเตอร์กินเอง การทำแบบนี้มีความเสี่ยงทำให้หนูแฮมสเตอร์อ้วนได้ง่ายเพราะมันจะกินตลอดเวลา ดังนั้นจึงควรใช้วิธีโรยอาหารไว้ในกรงแทน และควรโรยให้ทั่ว ๆ กรงเพื่อกระตุ้นแฮมสเตอร์ให้มีความตื่นตัวอยู่เสมอ ควรให้อาหารเสริม เช่น แครอท แตงกวา อาทิตย์ละ 2 - 3 ครั้ง และไม่ควรให้กินอาหารของคนเด็ดขาด
นอกจากนี้ควรวางกรงแฮมสเตอร์ไว้ในที่ที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ เพ่นพ่าน เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เจ้าหนูรู้สึกเครียดจนเจ็บป่วยได้
วิธีดูแลความสะอาดของกรง แฮมสเตอร์
หากผู้เลี้ยงต้องการทำความสะอาดกรงหนูแฮมสเตอร์ให้ทำความสะอาดโดยใช้เพียงน้ำเปล่า ส่วนบริเวณใดที่สกปรกมากก็ให้ออกแรงขัดมากขึ้นหน่อย เนื่องจากสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ อาจมีสารเคมีตกค้างทำให้แฮมสเตอร์ได้รับอันตรายเมื่อกัดหรือเลียกรงได้ และเมื่อทำความสะอาดทั้งทีก็ควรเปลี่ยนที่นอนหรือผ้าปูกรงที่ใช้แล้วชุดใหม่ ไม่จำเป็นต้องใช้ซ้ำเพื่อกันเชื้อโรคหมักหมม และควรใช้ผ้าปูพื้นให้หนาประมาณ 4 - 5 ชั้น โดยเลี่ยงการนำเศษไม้มาปูรองพื้น เนื่องจากเศษไม้มีน้ำมันและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแฮมสเตอร์

แฮมสเตอร์ ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่สามารถฝึกได้ง่าย ๆ เช่นสุนัขหรือแมว หากต้องการฝึกเขาเจ้าของก็ควรใจเย็น ๆ และใช้เวลาในการอดทนสูงมาก ๆ และแฮมสเตอร์ก็เป็นสัตว์ที่เปราะบางเนื่องจากมีขนาดตัวที่เล็ก จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเขาบ่อย ๆ ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อมีความจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะทำให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น
อ่านบทความ สัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ
เครดิตรูปภาพทั้งหมดจาก https://pixabay.com/th/