แมวไทยโบราณ ที่จัดเป็นแมวมงคลจากบันทึกสมุดข่อยโบราณ ซึ่งถูกค้นพบโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ มีลักษณะเด่นที่มาพร้อมกับความเชื่อโบราณ เสริมความเป็นสิริมงคล ให้โชคลาภ ฯลฯ ทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ว่าจะมีสายพันธุ์อะไรหลงเหลืออยู่บ้างนั้นมาดูกันเลย
ศุภลักษณ์
ศุภลักษณ์ หมายถึง ลักษณะที่ดีงาม มีอีกชื่อว่าแมวทองแดงเนื่องจากลักษณะสีขนของมัน โบราณเชื่อกันว่าหากเลี้ยงแมวไทยพันธุ์นี้เอาไว้จะนำมาซึ่งยศถา ลาถยศ มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ลักษณะภายนอก
สง่า ขายาวเรียว ฝ่าเท้าอวบ หัวค่อนข้างกลมกว้าง ขนมีสีทองแดงหรือสีน้ำตาลแดงเข้มทั่วตัว แต่บริเวณอื่น ๆ เช่น หน้า หู
หาง ปลายขา จะมีสีเข้มกว่าลำตัว ตาสีเหลืองประกายหรือสีเหลืองอำพัน หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง
ลักษณะนิสัย
มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ขี้เล่น ชอบผจญภัย รักอิสระ และที่สำคัญมีความฉลาด
วิเชียรมาศ
วิเชียรมาศเป็นชื่อสายพันธุ์ที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยและคนต่างชาติเป็นอย่างดี ความหมายของชื่อนี้ก็สุดแสนจะล้ำค่าเพราะแปลว่าเพชรแห่งดวงจันทร์ บางตำราก็เรียกว่าแมวแก้ว เป็นแมวที่เลี้ยงไว้ในพระราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามความเชื่อโบราณว่ากันว่าหากเลี้ยงไว้จะมีทรัพย์สมบัติเพิ่มพูน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน
ลักษณะภายนอก
วิเชียรมาศเป็นแมวไทยรูปร่างปราดเปรียว สง่างาม ดวงตามีสีฟ้าสดใสเหมือนตาฝรั่ง ผิวหนังบริเวณจมูกและริมฝีปากมีสีเงินหรือสีม่วงอ่อน ขนสั้นแน่นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง
สีสวาด
แมวไทยพันธุ์นี้มีความหมายว่าสีเทาอมเขียว อันที่จริงหลายคนก็รู้จักในอีกชื่อว่าแมวโคราช และไม่ว่าจะมีชื่อว่ามาเลศ หรือแมวดอกเลา ทั้ง 4 ชื่อเรียกนี้ก็คือแมวสายพันธุ์เดียวกัน ไม่ได้ต่างสายพันธุ์กันแต่อย่างใด โบราณเชื่อว่าหากใครเลี้ยงไว้จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิ์และความเป็นมงคลแก่เจ้าของ
ลักษณะภายนอก
รูปร่างค่อนข้างกลม หูตั้ง (ปลายมน โคนใหญ่) หน้าผากใหญ่และแบน ดวงตาใหญ่สีเหลืองสดหรือสีเหลืองอมเขียว หัวมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ขนเรียบสั้นหรือยาวปานกลางเป็นมันเงา โคนขนมีสีขุ่นเทา ปลายมีสีเงินหรือสีเหมือนดอกเลา จะมีสีขนแบบเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย
ลักษณะนิสัย
ชอบเข้าสังคม ขี้อ้อน ชอบถูกกอด ชอบแสดงความรัก ไม่ค่อยส่งเสียงร้อง
ขาวมณี
แมวไทยสายพันธุ์นี้มีอีกชื่อว่าขาวปลอด ความหมายของชื่อมาจากลักษณะสีขนที่มีความขาวสะอาดมาก คนโบราณเชื่อกันว่าหากเลี้ยงไว้จะค้ำคูณเจ้าของและนำโชคนำลาภมาให้
ลักษณะภายนอก
ลำตัวยาว ขนสั้นสีขาวสะอาดเนียนนุ่ม หัวทรงสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ จมูกสั้น หูตั้งใหญ่ นัยน์ตาสีฟ้า สีเหลืองอำพัน หรือมีตาสองสี
แมวโกนจาหรือโกญจา
ความหมายของชื่อแมวไทยพันธุ์นี้แปลว่านกกระเรียน ไม่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดถึงได้ตั้งชื่อที่มีความหมายเช่นนี้ แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักกันในอีกชื่อว่าดำปลอดตามลักษณะสีตัว เชื่อกันว่าหากเลี้ยงไว้จะทำให้ประสบความสำเร็จ และเสริมอำนาจวาสนา
ลักษณะภายนอก
ลักษณะสง่าเหมือนสิงโต ปากเรียวแหลม ดวงตาประกายสีเหลืองอมเขียวหรือสีทองอ่อน ขนเส้นเล็กสั้นละเอียดนุ่มและเรียบตรงดำสนิทตลอดทั้งตัว ไม่มีสีอื่นเจือปน หางยาวปลายหางแหลมตรง ทอดเท้าแบบสิงห์
ลักษณะนิสัย
ขี้อ้อน ชอบคลอเคลีย เรียบร้อย เจียมเนื้อเจียมตัว
แมวไทยโบราณ ที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้มีเพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้นจากทั้งหมด 17 สายพันธุ์ ซึ่งนับว่าหายสาบสูญไปเยอะมาก เหลือไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ สำหรับใครที่ชื่นชอบแมวไทยอยู่แล้วก็เหมาะอย่างยิ่งที่จะเลี้ยงไว้ในบ้าน แต่หากต้องการเลี้ยงไว้เพื่อเสริมความเป็นมงคลตามตำราโบราณว่าไว้ก็ดีไม่น้อยเลยทีเดียว
อ่านบทความ ทำหมันแมว มีประโยชน์อะไรบ้าง ดีต่อน้องเหมียวอย่างไร
เครดิตรูปภาพทั้งหมดจาก : https://pixabay.com/th/