
สุนัขเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นเพื่อนมนุษย์มากที่สุดก็ว่าได้ ด้วยนิสัยใจคอที่ค่อนข้างเป็นมิตร ฝึกง่าย และมีความซื่อสัตย์สูง ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามสนใจอยากเลี้ยงสุนัขสักตัวไว้ในที่พักอาศัยเพื่อเป็นเพื่อนเล่นคลายเหงา แต่การจะเลี้ยงสุนัขนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเพราะต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ประการ ฉะนั้นผู้ที่อยากเลี้ยงสุนัขทั้งหลายควรจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนรับสัตว์แสนน่ารักมาร่วมอยู่อาศัยด้วยกันเอาไว้ เพราะพวกเขามีชีวิตที่ยืนนานนับ 10 ปี ยังต้องอยู่กับเราไปอีกแสนนาน
การเตรียมตัวในการ เลี้ยงสุนัข
ขั้นที่ 1 เลี้ยงสุนัข ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย

เราควรสังเกตที่อยู่ตนเองก่อนว่ามีขนาดความกว้างขวางเท่าไหร่ เพราะพื้นที่ที่จะนำสุนัขมาเลี้ยงนั้นจะเป็นตัวกำหนดสายพันธุ์ของสุนัขให้กับผู้เลี้ยง แต่หลายคนก็พลาดด้วยการเลือกพันธ์ุสุนัขที่ชอบก่อนโดยไม่ได้ดูว่ามีพื้นที่ที่เหมาะกับสายพันธุ์นั้น ๆ หรือไม่ ทำให้ประสบปัญหาในภายหลัง เช่น นำน้องมาเลี้ยงแล้วแต่น้องอึดอัด หรือไปถึงร้านแล้วเจ้าของร้านแนะนำให้เลือกใหม่ พอเลือกแบบฉุกละหุกก็ทำให้คิดไม่รอบคอบพอจนได้พันธ์ุที่ไม่เหมาะกับวิถีชีวิต เป็นต้น การเลือกเลี้ยงสุนัขจากพื้นที่ที่มีอยู่จึงเป็นสิ่งแรกที่ควรจะคำนึงถึง
ขั้นที่ 2 มิตรรอบด้าน

เพื่อนบ้านคือส่วนสำคัญที่ผู้เลี้ยงทุกคนต้องเคารพและเห็นใจกันและกัน หากที่พักอาศัยนั้นไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ก็ไม่ควรฝ่าฝืนเพราะอาจสร้างความยุ่งยากให้กันได้ในภายหลัง ก่อนตัดสินใจเลี้ยงสุนัขควรจะถามถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างสุขภาพของเพื่อนบ้านด้วย เพราะบางคนอาจแพ้ขนสัตว์ เราอาจจะต้องดูแลเรื่องความสะอาดอย่างดีไม่ให้ขนของมันปลิวว่อน และเพื่อนบ้านบางรายก็อาจยินดีให้เลี้ยงได้เฉพาะพันธ์ุเล็ก ๆ เท่านั้น ดังนั้นสิ่งนี้จึงมีความสำคัญสูงที่ควรจะอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนเตรียมตัวเลี้ยงสุนัข
ขั้นที่ 3 เลือกพันธุ์ที่ใช่

นิสัยของสุนัขแต่ละสายพันธุ์นั้นไม่เหมือนกัน และแต่ละตัวก็ยังมีเอกลักษณ์ของเขาเองต่าง ๆ กันไป บางคนอาจเลี้ยงพันธ์ุเดียวกันแต่กลับรับมือกับพวกเขาต่างกัน ขั้นนี้จึงเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างสนุกสนานในการเตรียมตัวหาข้อมูลเพื่อเลือกเลี้ยงสุนัขสักตัว บางครั้งสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ ๆ ก็ไม่ได้ร่าเริงหรือขี้เล่นทั้งหมด บางสายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ขี้เกียจ ดุร้าย หรือเป็นมิตรกับคนแปลกหน้าจนไม่เหมาะนำมาเฝ้าบ้าน แม้แต่สุนัขพันธุ์เล็ก ๆ ก็ไม่ได้เลี้ยงง่ายแบบที่เราคิด บางสายพันธุ์ดื้อ ไม่ค่อยฟังคำสั่ง บางพันธ์ุก็เห่าเก่งมาก นอกจากนี้หากผู้เลี้ยงเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลาแต่อยากเลี้ยงสุนัขก็ควรมองหาพันธ์ุที่ไม่ได้ต้องการเวลาจากเรามากนักเอาไว้
การจะเลือกเลี้ยงสุนัขสักตัวมาเป็นเพื่อนซี้ข้างกายจึงควรศึกษาลักษณะนิสัยและความต้องการของเขาให้ดีที่สุดไม่ต่างจากการเลือกแฟนสักคน
ขั้นที่ 4 งบประมาณ

หากผู้เลี้ยงเป็นคนที่มีฐานะและไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินแล้วละก็สามารถตัดขั้นตอนการเตรียมตัวนี้ทิ้งได้เลย แต่หากเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆ ไป นักเรียนนักศึกษา หรือผู้ใหญ่วัยเกษียณแล้วก็ควรจะคำนึงถึงเรื่องงบประมาณไว้สักหน่อย การเลี้ยงสุนัขนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่ต่างจากคน โดยเฉพาะการซื้อมาเลี้ยงในช่วงแรกจะมีค่าใช้จ่ายที่เยอะเพราะมีทั้งอาหาร ภาชนะ ค่ารักษา รวมไปถึงสุนัขบางสายพันธุ์ก็มีราคาที่สูง ซึ่งในช่วงทำความคุ้นเคยระยะแรกสุนัขบางตัวก็ไม่ชอบยี่ห้ออาหารที่สรรหามาให้จนต้องเปลี่ยนหลาย ๆ แบบทำให้สิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุ
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้เลี้ยงไม่มีงบแต่มีใจที่รักสัตว์จริง ๆ ก็ยังสามารถขอรับเลี้ยงสุนัขจรจัดได้ตามเพจต่าง ๆ หรือกลุ่มใน Facebook หรือจะขอเลี้ยงสุนัขจากสถานสงเคราะห์สัตว์ใกล้บ้านก็ย่อมได้
ขั้นที่ 5 ประเมินค่าใช้จ่ายต่อเดือนในการ เลี้ยงสุนัข

สัตว์เลี้ยงเต็มไปด้วยความน่ารักน่าเอ็นดูก็จริง แต่เบื้องหลังของบรรดาเจ้าขนฟูนั้นก็มีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าวัคซีน ค่าอาบน้ำตัดขน ค่าของเล่น และค่าขนมสำหรับรางวัลของการเป็นเด็กดี ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งสุนัขก็อาจป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องเตรียมเงินสำรองไว้อีกหนึ่งกองสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินซึ่งไม่ควรปนกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายประจำเดือนก็ยังมีความแตกต่างกันตามวัยของสุนัขอีกด้วย ผู้เลี้ยงจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมไว้ล่วงหน้าสำหรับการเปลี่ยนยี่ห้ออาหารหรือการดูแลรักษาเมื่อสุนัขเติบโตขึ้นตามวัย ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าชีวิตของเราจะไม่ลำบากเกินไปเมื่อรับอีกชีวิตที่แตกต่างเข้ามา
ขั้นที่ 6 ซื้อของจำเป็นไว้เนิ่น ๆ

การนำสุนัขมาเลี้ยงไม่ว่าผ่านการซื้อขายหรือรับมาจากที่ไหนก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสรรหาข้าวของที่เหมาะกับน้อง ๆ ของเรามาวางรอไว้ก่อน ควรหามุมเหมาะ ๆ ของที่พักของเราแบ่งแยกบริเวณที่สุนัขจะใช้กินอาหาร หลับนอน หรือขับถ่ายให้ชัดเจน เนื่องจากช่วงแรกอาจมีอาการเห่อสมาชิกใหม่จนอาจทำให้ลืมเวลาไปซื้อของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยง ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องซื้อภาชนะใส่อาหาร น้ำดื่ม ปลอกคอ สายจูง ของเล่น หรือแม้แต่เบาะนอนให้เขาเอาไว้ล่วงหน้าก่อนจะได้ไม่ตื่นเต้นหรือรีบเกินไป
ขั้นที่ 7 มั่นใจและลุย!

สิ่งสุดท้ายสำหรับการเตรียมตัวเลี้ยงสุนัขคือความมั่นใจในทุก ๆ ขั้นตอนที่กล่าวไว้ข้างต้น หากแน่ใจว่าตนเองสามารถควบคุมสัตว์เลี้ยงได้ในเวลาที่มันเห่า ดื้อ หรือสร้างปัญหาก็ให้ลุยไปรับน้องมาเป็นสมาชิกในบ้านทันที ให้จำไว้เสมอว่าสุนัขของเราจะมีวันที่ไม่น่ารักเหมือนช่วงแรก ๆ และสุนัขของเราก็ไม่ได้น่ารักในสายตาของคนทุกคน ดังนั้นจะต้องแน่ใจว่าสามารถรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ได้
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงสุนัขสักตัวก็มีสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเพียง 7 ข้อเท่านั้น หวังว่าผู้ที่อยากเลี้ยงน้อง ๆ จะได้รับประโยชน์และได้ทบทวนก่อนนำเขาเข้ามาอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ยังนำขั้นตอนทั้งหมดไปใช้ได้กับการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย
อ่านบทความ เกี่ยวกับสุนัขทั้งหมด เพิ่มเติม
เครดิตรูปภาพทั้งหมดจาก https://pixabay.com/th/