สำหรับคนรักสุนัขหรือมือใหม่ที่เพิ่งหัดเลี้ยงสุนัขก็คงอยากให้สัตว์เลี้ยงแสนรักได้รับอาหารดี ๆ ที่มีประโยชน์ และการจะให้กินแต่อาหารเม็ดสำเร็จรูปก็กลัวว่าสุนัขจะเบื่อไปก่อน บางคนจึงต้องการให้สุนัขกินผักและผลไม้เพื่อให้ได้รับประโยชน์แบบครบถ้วน แต่รู้ไหมว่ามี ผักและผลไม้ที่สุนัขห้ามกิน อยู่ด้วย จะมีอะไรบ้างนั้นมาเลื่อนอ่านกันเลย
1.องุ่นและลูกเกด
องุ่นที่ดูหวานกรอบน่ากินสำหรับคนนั้นกลับเป็นพิษร้ายแรงต่อสุนัข ไม่ว่าจะเป็นองุ่นเขียว องุ่นแดง หรือองุ่นสายพันธุ์ใดก็ตามไม่ควรให้สุนัขโดยเฉพาะลูกสุนัขกับสุนัขพันธุ์เล็กกินเด็ดขาด เพราะในองุ่นมีสารพิษที่สามารถทำให้สุนัขถึงขั้นไตวายได้เลย ซึ่งลูกเกดที่ทำมาจากองุ่นแห้งก็ควรเลี่ยงให้ห่างไกลจากสุนัขด้วยเช่นกัน
2.หัวหอม
ผักและผลไม้ที่สุนัขห้ามกิน ลำดับต่อไปคือหัวหอม เนื่องจากมีสารเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่าไทโอซัลเฟต เป็นสารที่ทำให้สุนัขหรือแม้แต่แมวมีภาวะเลือดจางได้ ไม่ว่าจะให้สุนัขกินในปริมาณที่เยอะ หรือกินน้อย ๆ แต่กินบ่อย ๆ ท้ายที่สุดจะทำให้ส่งผลเสียต่อระบบเลือดของสุนัขในที่สุด
3.กระเทียม
กระเทียมมีสารเคมีไทโอซัลเฟตแบบเดียวกับหัวหอม เพียงแต่หัวหอมจะออกฤทธิ์รุนแรงกว่ากระเทียม ดังนั้นจึงควรเลี่ยงให้สุนัขกินกระเทียมโดยตรงหรือแม้แต่การกินโดยคลุกเคล้ากับอาหารอื่น ๆ
4.มะเขือเทศดิบ
มะเขือเทศเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย นอกจากจะดีต่อคนแล้วก็ยังดีต่อสุนัขอีกด้วย เพราะจะช่วยเสริมการย่อยอาหารและการขับถ่าย แต่สิ่งควรระวังคือต้องให้สุนัขกินเป็นมะเขือเทศสุกเท่านั้น หากสุนัขกินมะเขือเทศดิบเข้าไปจะได้รับสารไกลโคแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษต่อสุนัข ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจไม่สะดวก และหากสุนัขกินเข้าไปเกินกว่าร่างกายจะรับได้ก็สามารถทำให้เกิดอาการโคม่าจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งไม่เพียงผลของมะเขือเทศดิบเท่านั้น แต่รวมไปถึงกิ่ง ก้าน ใบด้วยที่ล้วนเป็นพิษต่อสุนัข ใครที่ปลูกต้นมะเขือเทศไว้ที่บ้านจึงควรทำรั้วรอบขอบชิดเพื่อกั้นสุนัขไม่ให้เผลอไปขุดคุ้ยมะเขือเทศกินให้ดี ๆ
5.แอปเปิ้ล
แอปเปิ้ลเป็นผักและผลไม้ที่สุนัขห้ามกินได้ด้วยเหรอ ? อันที่จริงแล้วเมล็ดแอปเปิ้ลกับแกนแอปเปิ้ลต่างหากที่ควรนำไปให้ห่างจากสุนัข เพราะในเมล็ดแอปเปิ้ลกับแกนกลางของแอปเปิ้ลมีไซยาไนด์ที่เป็นสารพิษต่อสุนัข เมื่อสุนัขกินเข้าไปจะทำให้ปวดท้องหรือท้องร่วงได้ ดังนั้นหากต้องการให้สุนัขกินแอปเปิ้ลเป็นของหวานหรือให้รางวัลก็ควรจะหั่นพอดีคำ และตัดส่วนที่เป็นแกนกลางกับเมล็ดแอปเปิ้ลทิ้งไป
6.เชอร์รี่
เชอร์รี่ถูกจัดให้เป็นผักและผลไม้ที่สุนัขห้ามกินเนื่องจากต้น ใบ และเมล็ดเชอร์รี่ออกฤทธิ์เป็นสารพิษไซยาไนด์ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของสุนัข หรืออาจทำให้สุนัขปวดท้องได้
7.บรอกโคลี
อันที่จริงแล้วสุนัขสามารถกินบรอกโคลีได้ทั้งแบบดิบและแบบสุก แต่ต้องกินในปริมาณที่น้อยมาก ๆ เพราะในบรอกโคลีมี Isothiocyanates ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารของสุนัขได้ และจากรายงานของสมาคมสัตวแพทย์สัตว์โลกได้บอกไว้ว่าผักชนิดนี้ควรเป็นอาหารไม่เกิน 10% ของอาหารประจำวันของลูกสุนัข เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ
8.อะโวคาโด
ในอะโวคาโดมีสารที่เรียกว่า Persin ที่ส่งผลต่อหัวใจ หากสุนัขได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้มีอาการหายใจติดขัด ท้องเสีย หรืออาจอาเจียนออกมาได้ โดยเฉพาะในเมล็ดอะโวคาโดนอกจากจะมีสารพิษ Persin สำหรับสุนัขแล้วก็เสี่ยงติดคอสุนัขที่กินเข้าไปอีกด้วย หากไม่ได้มีความจำเป็นหรือมีความรู้ในการประกอบอาหารสัตว์ก็ควรเลี่ยงไม่นำอะโวคาโดให้สุนัขกิน
9.ลูกพลัม
ผลไม้ชนิดนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไป แต่ถ้าพูดชื่อไทย ๆ ว่าลูกไหนก็คงจะร้องอ๋อกันเป็นแถว สำหรับลูกพลัมหรือลูกไหนนั้นให้รสชาติหวานอร่อย และมุก “ลูกไหนอร่อย” ก็ถูกเล่นกันอย่างแพร่หลาย แต่รู้ไหมว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุนัข โดยเฉพาะในส่วนของเมล็ด ก้าน และใบนั้นมีพิษไซยาไนด์ หากสุนัขเผลอกินเข้าไปจะทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและตายได้เลย
10.ถั่วแมคคาเดเมีย
ถั่วแมคคาเดเมียอาจจะไม่ได้อยู่ในตระกูลผักหรือผลไม้ที่สุนัขห้ามกิน แต่ถั่วแมคคาเดเมียก็เป็นพืชจากธรรมชาติอีกหนึ่งชนิดที่ควรเลี่ยงให้ไกลจากสุนัขอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีสารพิษที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสุนัข สุนัขที่กินถั่วชนิดนี้เข้าไปจึงมีอาการขาไม่มีแรง ขาสั่น บวมตามร่างกาย และจะรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เคลื่อนไหว ซึ่งสุนัขบางตัวกินถั่วแมคคาเดเมียเข้าไป 4 - 5 เม็ดก็มีอาการแล้ว
หวังว่าลูกเพจที่เข้ามาอ่านจะได้รับความรู้จนสามารถระวังความปลอดภัยให้สุนัขที่บ้านจาก ผักและผลไม้ที่สุนัขห้ามกิน ได้ อย่าลืมว่าอาหารบางอย่างที่มีประโยชน์ไม่ได้หมายความว่าจะดีต่อทุก ๆ ชีวิต หากอยากให้สัตว์เลี้ยงอยู่ด้วยกันไปนาน ๆ ก็ไม่ควรให้กินอะไรโดยไม่ศึกษาให้ดีก่อน
อ่านบทความ ชิวาวา กับ 7 เรื่องไม่ลับของสุนัขสายพันธุ์จิ๋วที่คนอยากเลี้ยงต้องอ่าน
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : https://pixabay.com/th/